ห้าโมงเย็นภายในอารามเงียบสงัด สถานที่ศักดิ์สิทธิ์นี้ไม่อนุญาตให้ฆราวาสเข้าได้
ป้ายขนาดใหญ่แขวนเหนือบานประตูหน้าหอฝึกสมาธิ เขียนบอกกฎเกณฑ์ที่พระจำต้องปฏิบัติ ไม่ว่าในเป็นเรื่องการนั่งซาเซน การปิดวาจา ไปจนถึงการถอดรองเท้า กฎข้อสุดท้ายเขียนไว้ว่า ‘ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามกฎถือเป็นผู้ที่ขัดขวางการฝึกฝนของผู้อื่นจะถูกไล่ออกจากสำนักและไม่สามารถกลับเข้ามาในวัดได้อีก’ ความเคร่งครัดทำให้พระใหม่จำนวนไม่น้อยต้องปรับตัว เพื่อดำเนินไปสู่การตระหนักรู้อย่างถูกทาง
ในแต่ละวันพระจะนั่งซาเซน 5 ชั่วโมงเพื่อมุ่งสู่การบรรลุธรรมหรือซาโตริ ท่านั่งซาเซนรูปทรงคล้ายพีระมิด ศีรษะเปรียบดั่งยอด ขาไขว้กันเป็นฐาน ปากปิดสนิท ลิ้นแตะขากรรไกร เปลือกตาปิดเล็กน้อยเพื่อเลี่ยงความง่วง เมื่อท่วงท่าถูกจัดไว้ดีแล้ว พระผู้เข้ารับการฝึกจะแอ่นหน้าท้องกำหนดลมหายใจ ปล่อยวางความคิด ละทิ้งตัวตน เพื่อสัมผัสประสบการณ์ใหม่
ยามพระรูปใดรู้สึกอ่อนล้าหรือง่วงนอน ขณะนั้นเองพวกเขาจะรู้สึกได้ถึงแรงเตือนจากไม้(เคซากุ)
ไม้นี้ไม่ได้มีไว้ขู่หรือทำร้าย ทว่าเป็นไม้แห่งความเมตตากรุณา ใช้ปลุกพลังวิญญาณของพระฝึกหัด เพื่อขับไล่ความง่วงเหงาหาวนอน เป็นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อและปรับแก้ท่านั่งให้ถูกต้อง อีกนัยหนึ่งไม้นี้ยังเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตอุบาสก
แล้วถ้าถามว่า การนั่งซาเซนทำให้บรรลุธรรมได้จริงหรือ คำตอบคือไม่รู้ เพราะคนที่บันทึกประสบการณ์การบรรลุธรรมมักไม่ใช่คนบรรลุธรรม มันอาจเป็นอย่างที่ปรมาจารย์เซนกล่าวไว้
บางครั้งฉันนั่งและคิด บางทีฉันก็นั่งเฉย ๆ แน่นอน! คนพูดไม่รู้ คนรู้ไม่พูด
การเดินทางของ บรรพ์ โกศัลวัฒน์ ในสารคดีชุด Tipitaka : The Living Messages